ประกาศยกเลิกหลักสูตร ป.บัณฑิต-ปรับระบบขอใบอนุญาตฯ แยกเป็นวิชาที่สอน
“คุรุสภา” ปรับใหญ่ระบบออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งชัด กลุ่มครูปฐมวัย ประถม มัธยม ครู ม.ปลาย ขอใบอนุญาตฯ แยกรายวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ระบุ บัณฑิตครูใหม่ ใช้วิธีสอบ ขณะที่ครูเก่า ใช้หลักฐานอบรมความรู้เพิ่มเติม 15 ชั่วโมง นำหลักฐานย้อนหลัง 3 ปีมายื่น ตั้งเป้าใช้จริงปี 2557 พร้อมประกาศยกเลิกรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิต หลังมีเสียงบ่นขาดคุณภาพ
วันนี้ (19 ส.ค.) ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพผู้บริหารหารศึกษาจะให้มีการเพิ่มมาตรฐานความรู้ในวิชาที่สอนเข้าไปซึ่งในปัจจุบันครู จะมีอยู่ 9 มาตรฐาน ส่วนผู้บริหารและศึกษานิเทศก์มี 10 มาตรฐาน โดยจะเพิ่มอีก 1 มาตรฐาน คือ มาตรฐานความรู้ในวิชาที่ครูจะสอน โดยในระดับปฐมวัย จะเน้นในเรื่องจิตวิทยาสำหรับเด็ก การดูแลช่วยเหลือเด็ก การช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้อย่างสมวัย ระดับประถมศึกษา จะเพิ่มความรู้ในกลุ่มสาระที่ครูจะต้องสอน รวมถึงเทคนิคและวิธีสอน ระดับมัธยมศึกษา เพิ่มความรู้ในเนื้อหาวิชาที่ครูจะไปสอน อาทิ ครูที่สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ทั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยจะแยกเป็นใบประกอบวิชาชีพครูระดับปฐมวัย ประถมศึกษา ขณะที่ มัธยมศึกษาตอนต้น จะแยกเป็นกลุ่มสาระวิชา ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะแยกเป็น ครูสอนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น ส่วนครูระดับอาชีวศึกษาก็จะแยกตามสาขาวิชา อาทิ ครูช่าง บริหาร เกษตร
ดร.ดิเรก กล่าวต่อว่า ในส่วนผู้ที่จะขอใบอนุญาตใหม่นั้น จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบจากคุรุสภา นอกจากนี้ นักศึกษาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี สามารถสอบขอใบอนุญาตฯ ได้ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ซึ่งหากสอบผ่าน เมื่อเรียนจบก็จะสามารถนำผลการทดสอบพร้อมกับวุฒิการศึกษาปริญญาตรี มายื่นขอใบอนุญาตฯ จากคุรุสภาได้ทันที
“คุรุสภาจะแปลงคะแนนข้อสอบเป็นคะแนนมาตรฐาน หากได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนดซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการกำหนดเกณฑ์ บัณฑิตคนนั้นจะไม่ได้ใบอนุญาตฯ แต่สามารถมาสอบใหม่ได้โดยเบื้องต้นอาจจะให้สอบได้ปีละ 2-3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสนอว่าควรมีการนำร่องได้ในปี 2555 และจะดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2557 ส่วนแนวทางในเบื้องต้นสำหรับครูที่มีใบอนุญาตฯ อยู่แล้วซึ่งจะหมดอายุในปี 2557 นั้น จะต้องมีหลักฐานในการฝึกอบรมในวิชาที่จะสอบอย่างน้อย 15 ชั่วโมง ย้อนหลัง 3 ปี หากไม่มีก็จะให้เวลาไปพัฒนาต่อไป ซึ่งต้องรอการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตฯ ที่ชัดเจนอีกครั้ง” ปธ.คกก.คุรุสภา กล่าว
ดร.ดิเรก กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติยกเลิกการให้การรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ดังนั้น สถาบันผลิตครูที่เคยส่งหลักสูตรมาให้การรับรอง และคุรุสภาให้การรับรองไปแล้ว ทางคุรุสภายกเลิกไม่ให้การรับรองต่อไป อย่างไรก็ตามจะไม่กระทบต่อนักศึกษาหลักสูตรป.บัณฑิตที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนี้ แต่จะไม่ให้สถาบันผลิตครูรับนักศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิตรุ่นใหม่อีก เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีผู้จบการศึกษาผู้มีใบอนุญาตฯพอแล้ว และคุรุสภา ต้องการควบคุมคุณภาพสถาบันผลิตครู ซึ่งบางแห่งไม่บริหารหลักสูตรให้เป็นไปตามที่เสนอต่อคุรุสภา
“ส่วนสถาบันอาชีวศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ครู ซึ่งไม่ได้จบด้านการศึกษา หรือสายช่าง ถ้าจำเป็นต้องอบรมเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯทางคุรสภาจะประสานงานกับหน่วยงานเหล่านั้นเพื่อประสานกับสถาบันผลิตครู เพื่อจัดอบรมเป็นรายสถาบันรายกรณีไป” ดร.ดิเรก กล่าว
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000115578
สรุปสิ่งที่ได้จากการอ่านข่าว
จากข่าวข้างต้นมีความสำคัญต่อวงการวิชาชีพครูเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องของการขอรับใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเคยมีปัญหาในด้านต่างๆ มาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกฎเกณฑ์ข้อกำหนด มาตรฐาน คุณภาพของครูที่ผลิตออกมา และยังรวมไปถึงการผกผันทางการเมือง ในการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในการบริหารราชการในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้มีอำนาจการกำหนดหรือควบคุมจึงถูกเปลี่ยนแปลงเป็นว่าเล่น ดังที่ได้เห็นจากนโยบายที่ออกมาเป็นรายวัน ดังนั้นในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการข้อรับใบประกอบวิชาชีพครูที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง มีความสำคัญกับพวกเราที่อยู่ในวงการวิชาชีพครูเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามทุกคนจะต้องคอยติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด